บทความล่าสุด

หมายเรียก และหมายจับ

29 พ.ย. 2024 | บทความ

หมายเรียก (ป.วิ.อ.มาตรา ๕๒)  คือ หมายที่ออกโดยพนักงานสอบสวน ให้บุคคลใดมาพบพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้อาจจะเป็นหมายเรียกบุคคลมาให้การในฐานะพยาน หรืออาจจะเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาเนื่องจากมีผู้มาร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษว่าได้กระทำความผิดก็ได้

ในส่วนของผู้ต้องหานั้น หากพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาได้แล้ว เช่นนี้ พนักงานสอบสวนก็จะออกหมายเรียกผู้ต้องหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา

ซึ่งหากบุคคลหรือผู้ต้องหาที่ถูกหมายเรียก ไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามนัดที่ระบุในหมายเรียก โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร หรือไม่แจ้งเหตุอันควร เหตุผลที่ไม่สามารถมาตามหมายเรียกได้ต่อเจ้าหน้าที่ เช่นนี้ก็จะถือว่ามีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงขัดขืนหมายเรียก คือไม่มาพบตามนัด หรือบ่ายเบี่ยง ประวิงเวลา โดยไม่มีเหตุอันสมควร จะถือว่ามีเจตนาหลบหนี (การที่ไม่มีที่อยู่เห็นหลักแหล่งก็เข้าข้อสันนิษฐานของคำว่ามีเจตนาหลบหนีด้วย) ซึ่งพนักงานสอบสวนก็จะไปขออำนาจศาลให้ออกหมายจับได้

คำถามว่า จำเป็นต้องออกหมายเรียกผู้ต้องหาทุกครั้งก่อนเสมอไปหรือไม่ หรือไม่ต้องออกหมายเรียกแต่พนักงานสอบสวนไปขออำนาจศาลออกหมายจับได้เลย

คำตอบคือ ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกก่อนเสมอไป ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในคดีนั้นๆ เพราะถ้าหาก ว่ามีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญา เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ ปี ขึ้นไป มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น พนักงานสอบสวนก็สามารถไปขอศาลออกหมายจับได้เลย โดยไม่ต้องออกหมายเรียกก่อน

หมายจับ (หมายอาญา) คือ หนังสือที่ศาลอนุญาตให้จับผู้ต้องหาหรือจำเลย ผู้ที่มีอำนาจออกหมายจับคือ ศาล  ป.วิ.อ.มาตรา ๖๖ เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้

๑) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน ๓ ปี หรือ

๒) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

การขอออกหมายจับ สามารถขอได้ ๒๔ ชั่วโมง (เนื่องจากศาลจะมีเวรออกหมายค้น หมายจับ) โดยพนักงานสอบสวนต้องนำเสนอพยานหลักฐานที่สนับสนุนการขอออกหมายจับต่อศาลด้วย โดยจะต้องมีหลักฐานตามสมควรที่ทำให้ศาลเชื่อว่ามีเหตุจะออกหมายจับได้ (มาตรา ๕๙/๑) ศาลจึงจะออกหมายจับให้    ซึ่งถ้าไม่มีหลักฐานอันควร ศาลก็ไม่ออกหมายจับให้

ส่วนสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหานั้นมีดังนี้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา มาตรา ๗/๑ นั้น ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก และให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว

(๒) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน

(๓) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร

(๔) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย

ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจห้องรับมอบตัวผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหามีหน้าที่แจ้งให้ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหานั้นทราบในโอกาสแรกถึงสิทธิตามวรรคหนึ่ง

กรณีตามข่าว วันนี้ (๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๗) เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามสามารถตามจับทนายตั้มได้ ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ จ.๕๓๓๗/๒๕๖๗ ลว. ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ (ที่มาดามอ้อยร้องทุกข์ฉ้อโกง ๗๑ ล้านบาท) รวม ๔ ข้อหา ฉ้อโกง, ฟอกเงิน, ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบฟอกเงิน ส่วนภรรยาทนายตั้ม ข้อหา ร่วมกันฟอกเงิน ขณะขับรถยนต์ออกจากบ้านตั้งแต่ ๙.๐๐ น. มุ่งหน้าออกไปทางจังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีลักษณะที่น่าเชื่อว่าจะหลบหนีไปนอกประเทศ รวมถึงที่ผ่านมามีลักษณะที่น่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี และยังมีคดีที่กำลังทำการสอบสวนอยู่อีกประมาณ ๓ คดี อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน คือ คดีคริปโต ๓๙ ล้านบาท คดีรถเบนซ์ ๑๓ ล้านบาท และคดีค่าโรงแรมอีก ๙ ล้านบาท ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ขออำนาจศาลออกหมายจับได้ทันที โดยไม่ต้องออกหมายเรียก  โดยในการจับก็จะต้องถามบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลตามหมายจับหรือไม่? เคยถูกจับตามหมายจับมาก่อนหรือไม่?  แจ้งให้ทราบว่าจะต้องถูกจับตามหมายจับ มีข้อเท็จจริงอย่างไร? ข้อหาอะไร? แจ้งสิทธิตามกฎหมายว่าจะต้องถูกจับ มีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ เมื่อจับตัวมาแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นเวลา ๔๘ ชั่วโมง หลังจากนั้นต้องนำตัวไปฝากขังที่ศาล

ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการตรวจอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องจากบ้านพักของทนายตั้มมาตรวจสอบด้วย ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือไม่ อย่างไร

ข้อหาตามหมายจับนั้น ฉ้อโกง ปอ.มาตรา ๓๔๑ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อหาฟอกเงิน ตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๕ ผู้กระทำผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุก ๑-๑๐ ปี หรือปรับ ๒๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(การฟอกเงิน คือการนำเงินทีได้มาจากการกระทำความผิดหรือเงินที่เกี่ยวข้องกับการทำผิด มาเก็บ ซุกซ่อน โอน ยักย้ายหรือเปลี่ยนสภาพ เพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ รวมถึงทรัพย์สินอื่นที่ได้เปลี่ยนสภาพมาด้วย โดยสรุปคือการฟอกทรัพย์สิน เปลี่ยนสถานะของทรัพย์สินที่ได้มาผิดกฎหมายให้เป็นทรัพย์สินที่ถูกกฎหมาย โดยที่บุคคลอื่นไม่รู้)

สมคบกันฟอกเงิน ตามมาตรา ๙ ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงิน        ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ถ้าได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ตามบัญชีท้าย ๒๘ ประเภทความผิดกฎหมายฟอกเงิน คือ ฉ้อโกงประชาชน (กรณีตามหมายจับคือข้อหาฉ้อโกง ปอ.มาตรา ๓๔๑ ไม่เข้าบัญชีท้าย แต่ที่เข้าข่ายน่าจะเป็นความผิดฐาน ลัก/ยักยอก/ฉ้อโกงทรัพย์ เป็นปกติธุระ ซึ่งเราเห็นข่าวว่ามีลักษณะหรือพฤติกรรมในหลายเรื่อง หลายคนที่มีข่าวออกมา โดยเฉพาะของมาดามอ้อยเอง ก็มีข้อเท็จจริงที่มองได้ว่า น่าจะมีลักษณะการกระทำที่เป็นลักษณะแบบเดียวกัน คือทำเป็นปกติเลย หลอกลวงหรือใช้อุบายเป็นประจำเลย จึงเข้าลักษณะข้อหาตามบัญชีท้ายกฎหมายฟอกเงิน )  

ปปง.จะเข้ามาตรวจสอบทรัพย์สินต่อไป

เมื่อจับมาตามหมายจับแล้ว  ผู้จับกุมต้องรายงานศาลที่ออกหมายจับทราบโดยเร็ว ไม่ช้ากว่า ๗ วันนับแต่วันจับได้ และผู้จับยังต้องแจ้งให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองทราบถึงการควบคุมตัวผู้ต้องหาตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.๒๕๖๕  พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวไว้ ๔๘ ชั่วโมง นับแต่ผู้จับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพาผู้ต้องหาไปศาลขออนุญาตฝากขัง (ป.วิ.อ.มาตรา ๘๗)

กรณีข้อหาคดีทนายตั้ม มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๑๐ ปี ขึ้นไป ฝากขังได้ครั้งละไม่เกิน ๑๒ วัน แต่รวมกันไม่เกิน ๘๔ วัน (๗ ฝาก)

ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง ๖ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๐ ปี ฝากขังได้ครั้งละไม่เกิน ๑๒ วัน แต่รวมกันไม่เกิน ๔๘ วัน ( ๔ ฝาก)

ข้อหาตามหมายจับ ข้อหาฟอกเงิน อัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๑๐ ปี ขึ้นไป ฝากขังได้ ๗ ฝาก