การนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่ามาใช้กับคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงิน
Adoption of Value Confiscation in Economic and Financial Crime
(บทความนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 34 ฉบับที่ 1 มีนาคม , 2559 : 51 – 60.)
สุพัตรา แผนวิชิต
[1]
บทคัดย่อ
การริบทรัพย์สินในคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการริบทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการดำเนินการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีข้อจำกัดบางประการ เนื่องจากทรัพย์ที่ริบได้ตามกฎหมายนั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือเป็นทรัพย์สินสกปรก ซึ่งเป็นไปตามหลักการลงโทษริบทรัพย์สินแบบเจาะจงทรัพย์สิน (Property – based Confiscation) ทำให้เกิดปัญหาในกรณีที่มีการโอนย้าย ถ่ายเททรัพย์สินไป ไม่สามารถหาทรัพย์สินดังกล่าวได้ จึงควรนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่า (Value Confiscation) มาใช้กับคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการบังคับใช้มาตรการริบทรัพย์สินและเป็นการอนุวัติกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ค.ศ. 2000 เพื่อให้สามารถริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดและทรัพย์สินอื่นที่มีมูลค่าเท่ากับทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
Abstract
Confiscation of assets in cases of economic and financial crimes, which is currently in force, whether it is confiscation of assets under the Penal Code or procedures for filing petitions in order to vest the assets in the State under Anti-Money Laundering Law, is suffering some restraints, because the assets, which can be confiscated under the laws, must be assets, which are involved with commission of offenses, or dirty assets, in accordance with the principle of imposition of Property–Based Confiscation. Hence, problems may arise to cases where assets have been transferred or moved and the said assets cannot be found. Therefore, the principle of Value Confiscation should be adopted in economic and financial criminal cases of Thailand, as to overcome the restraints on enforcement of asset confiscation measures, and the domestic law should be enacted or amended for implementing United Nations Convention against Transnational Organized Crime A.D. 2000, in order that assets, which are obtained from commission of offenses, and other assets, whose value is equivalent to the former assets.
1.ความนำ
ปัญหาอาชญากรรมได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมีการขยายตัว สร้างเครือข่ายอย่างเป็นระบบครอบคลุมไปทั่วโลกอันเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัตน์ มีการพัฒนารูปแบบให้ซับซ้อนจนยากแก่การบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด เนื่องจากโลกยุคปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วไร้ขีดจำกัดทางพรมแดน ทำให้การประกอบธุรกิจเกิดการขยายตัวอย่างกว้างขวาง สร้างผลกำไรอย่างมหาศาล ในขณะเดียวกันวงการอาชญากรรมได้มีการพัฒนารูปแบบจากการประกอบอาชญากรรมโดยปัจเจกบุคคลมาเป็นลักษณะขององค์กรอาชญากรรม ซึ่งมีการจัดโครงสร้างองค์กรที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย มีบุคคลที่มีอำนาจอิทธิพลในวงการอาชญากรรมเป็นหัวหน้าและมีการสั่งให้กระทำความผิดโดยเฉพาะในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และเมื่อองค์กรอาชญากรรมได้เงินหรือผลประโยชน์มาแล้วจะนำไปเข้าสู่กระบวนการฟอกเพื่อให้กลายเป็นเงินที่ถูกกฎหมายนำไปใช้เป็นต้นทุนในการกระทำความผิดขององค์กร ปัญหาการดำเนินคดีมาจากการที่ไม่สามารถลงโทษผู้บงการหรือผู้ที่เป็นหัวหน้าอยู่เบื้องหลังได้ ส่งผลให้ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทวีความรุนแรงมากขึ้นและนับเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อความสงบสุขและสวัสดิภาพของประชาชนเป็นบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศและเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการพัฒนาสังคม โดยคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและมีความเสียหายมหาศาลมีหลายประเภทความผิด อาทิ ความผิดเกี่ยวกับสถาบันการเงิน ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการระดมเครือข่ายโดยมิชอบ ความผิดเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ความผิดเกี่ยวกับการล้มละลายโดยฉ้อฉลและการล้มละลายข้ามชาติ ความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ความผิดเกี่ยวกับศุลกากร เป็นต้น ความผิดเหล่านี้ต่างส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีประชาชนจำนวนมากได้รับความเสียหาย ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการป้องกันและปราบปราม อย่างไรก็ดี ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกับความผิดอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินมีหลายประการ อาทิ ปัญหาด้านการสืบสวนสอบสวน ปัญหาด้านพยานหลักฐาน ปัญหาการพิสูจน์ความรับผิดทางอาญา ปัญหาด้านกระบวนการพิจารณาคดี ปัญหาด้านโทษและสภาพบังคับและปัญหาการดำเนินการด้านทรัพย์สิน ทำให้รัฐไม่สามารถดำเนินคดีอาญาและลงโทษผู้กระทำความผิดได้ บทความนี้จะเน้นวิเคราะห์เกี่ยวกับมาตรการริบทรัพย์สินในคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินว่ามีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับหลักสากลเพียงใด ภายใต้สมมติฐานที่ว่า การกำหนดมาตรการริบทรัพย์สินมีความสำคัญต่อแรงจูงใจในการกระทำความผิดของอาชญากรในคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงิน ดังนั้น การบังคับใช้มาตรการริบทรัพย์สินที่เหมาะสมและ มีประสิทธิภาพย่อมส่งผลต่อการข่มขู่ยับยั้งผู้กระทำความผิดและป้องกันอาชญากรรม
- ปัญหาการบังคับใช้มาตรการริบทรัพย์สินในคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงิน
กฎหมายที่เกี่ยวกับการริบทรัพย์สินในคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กล่าวคือ การริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32-37 เป็น “การริบทรัพย์สินทางอาญา” (Criminal Forfeiture) ที่จะใช้บังคับเอาแก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้น โดยการฟ้องเจ้าของทรัพย์สินเป็นจำเลยในคดี ซึ่งพนักงานอัยการจะต้องฟ้องคดีอาญาต่อบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นแล้ว หากมีทรัพย์สินใดที่ต้องริบ พนักงานอัยการจะต้องระบุในคำฟ้องให้ชัดเจนโดยการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินในคดี เนื่องจากการริบทรัพย์สินเป็นการดำเนินคดีต่อตัวบุคคลมิใช่การดำเนินการกับตัวทรัพย์สินโดยตรง จึงต้องยึดถือคำพิพากษาของศาลว่าจำเลยได้กระทำความผิดเป็นหลักคือ เมื่อศาลพิพากษาแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงจะสามารถริบทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้
ส่วนการร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือที่เรียกกันในทางวิชาการว่า “การริบทรัพย์ทางแพ่ง” (Civil Forfeiture) เป็นกระบวนการพิจารณาคดีต่อตัวทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยตรง และผลของการดำเนินการย่อมกระทบต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดหรืออาจกระทบถึงทรัพย์สินของบุคคลอื่น ในส่วนของการดำเนินคดีนั้นสามารถกระทำได้โดยการฟ้องตัวทรัพย์สินโดยตรงและไม่ต้องคำนึงถึงความผิดของเจ้าของทรัพย์สิน มาตรการดังกล่าวมุ่งประสงค์สกัดกั้นฐานทางการเงินขององค์กรอาชญากรรม เพราะบรรดาทรัพย์สินขององค์กรอาชญากรรม มักจะถูกนำมาเป็นต้นทุนในการก่ออาชญากรรมต่อไปและได้ขยายหลักเกณฑ์มาตรการทางทรัพย์สินให้มีขอบเขตกว้างขวางขึ้นกว่าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายอาญาที่มีอยู่เดิม ดำเนินการฟ้องตัวทรัพย์สินโดยตรงและไม่ต้องคำนึงถึงความผิดอาญาของเจ้าของทรัพย์สิน นั่นคือ สามารถริบทรัพย์สินได้ แม้จะไม่มีผู้ถูกลงโทษในคดีอาญาที่เป็นคดีหลัก และสามารถริบทรัพย์สินได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนแปลงสภาพไปแล้วกี่ครั้งหรือตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นแล้วก็ตาม ทั้งนี้ การริบทรัพย์ดังกล่าวต้องกระทำต่อเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิด มูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินและให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ปัจจุบันมีความผิดมูลฐานทั้งสิ้น 25 มูลฐาน
[2] ซึ่งหากพิจารณาคำว่า “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตามกฎหมายฟอกเงินแล้วพบว่า ทรัพย์สินที่จะถูกดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงินยังต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการกระทำความผิด
[3]
จะเห็นได้ว่า การริบทรัพย์สินในคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินยังมีข้อจำกัด เนื่องจากหลักการริบทรัพย์ตามกฎหมายทรัพย์ที่ริบนั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือเป็นทรัพย์สินสกปรก ซึ่งเป็นไปตามหลักการลงโทษริบทรัพย์สินแบบเจาะจงทรัพย์สิน (Property – based Confiscation) ซึ่งเป็นระบบการริบทรัพย์แบบดั้งเดิม กล่าวคือ เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของแผ่นดินหรือของรัฐ จึงต้องมีตัวทรัพย์สินที่จะถูกบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นในขณะที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว โดยที่สิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจะได้รับผลกระทบทันทีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สิน โดยสภาพ การริบทรัพย์สินแบบนี้จึงต้องมีทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งคำสั่งริบทรัพย์สิน ซึ่งจะแตกต่างจากระบบริบทรัพย์สินแบบมูลค่า นอกจากนี้ ทรัพย์สินที่จะถูกริบได้ในระบบนี้ จะต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด (prohibited items)
[4] หรือทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด (instrumentalities of crime)
[5] หรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด (criminal fruit)
[6] เหตุนี้การริบทรัพย์สินในระบบนี้ จะกระทำได้จะต้องพิสูจน์ความเกี่ยวข้องของทรัพย์สินที่จะถูกริบกับการกระทำความผิด ในบางประเทศโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในด้านใดด้านหนึ่งข้างต้น มักจะเรียกว่า เป็นทรัพย์สินสกปรก (tainted property) ระบบการริบทรัพย์แบบนี้เป็นระบบที่ใช้กันอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
[7]
ดังนั้น จึงมีปัญหาว่า หากผู้กระทำความผิดมีการเตรียมการล่วงหน้า มีการจำหน่าย จ่ายโอน หรือเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ไปเป็นของบุคคลอื่น ทำให้ไม่อาจใช้มาตรการริบทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีพยานหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แต่การยึด อายัด หรือริบทรัพย์สินก็ยังทำได้จำกัด อีกทั้งการขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายฟอกเงินใช้ได้แต่เฉพาะ “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” เท่านั้น จึงอาจจะทำให้เกิดปัญหาในกรณีที่ไม่สามารถหาทรัพย์สินดังกล่าวได้ เช่น เมื่อมีการผสมกันของทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดและทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่สามารถแยกได้ว่าส่วนใดของทรัพย์สินที่ผสมกันนั้นเป็นทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการนำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือเงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายไปซื้อ หรือในกรณีที่มีการใช้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างสิ้นเปลืองจนทรัพย์สินนั้นหมดไป จึงเป็นที่มาของแนวคิดการนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่า (Value Confiscation) มาใช้กับความผิดอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการบังคับใช้มาตรการริบทรัพย์สินและเป็นการอนุวัติกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ค.ศ. 2000 ในส่วนข้อบทที่เกี่ยวกับการนำหลักการริบทรัพย์ตามมูลค่ามาใช้ที่แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะให้ประเทศต่างๆ สามารถที่จะริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดและทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีมูลค่าเท่ากับทรัพย์สินดังกล่าวด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถหาทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดได้
- หลักการริบทรัพย์ตามมูลค่า (Value Confiscation)
การริบทรัพย์ตามมูลค่า (Value Confiscation) หมายถึง ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแล้วและสั่งให้มีการริบทรัพย์จำเลย แต่ต่อมาหากทรัพย์เปลี่ยนสภาพไปเป็นอย่างอื่น ศาลสามารถสั่งให้จำเลยจ่ายเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอื่นที่มีมูลค่าเท่ากับทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบได้
[8]
หลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่าดังกล่าวเป็นหลักการสากลสำคัญ ดังที่ปรากฏในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ได้แก่
– อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 (United Nations Convention against Illicit Traffic in Narcotic Drugs and Psychotropic Substances, 1988) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตลอดจนเพื่อแก้ไขปัญหาความต้องการที่ผิดกฎหมายที่มีต่อยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเป็นการตัดทอนผลตอบแทนอันเกิดจากการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยได้กำหนดให้มีการสืบเสาะ ติดตาม อายัด ยึดหรือริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการลักลอบค้ายาเสพติด ทั้งทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดโดยตรง และทรัพย์สินที่มิใช่ได้มาจากการกระทำความผิดแต่มีมูลค่าเทียบเท่า เนื่องจากมีการแปลงสภาพทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด รวมถึงการริบอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้หรือเจตนาที่จะใช้ในการผลิตหรือการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตามที่บัญญัติไว้ใน Article 5 (1) รัฐภาคแต่ละรัฐจะต้องรับเอามาตรการตามที่อาจจำเป็น เพื่อให้ภาคีสามารถริบทรัพย์สินดังต่อไปนนี้
(a) ผลตอบแทนที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ 3 วรรค 1 หรือทรัพย์สินซึ่งมีมูลค่าเท่าเทียมกับผลตอบแทนดังกล่าวนั้น
[9]
– อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ค.ศ. 2000 (United Nations Convention against Transnational Organized Crime, 2000) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดกรอบความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกมีบทกฎหมายภายในที่เกี่ยวกับการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติให้มีเนื้อหาสาระและมาตรการสำคัญ ๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการให้ความร่วมมือในการปรามปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพ อนุสัญญานี้จึงเป็นกรอบแห่งความร่วมมือทางกฎหมาย และเป็นการกำหนดมาตรฐานระดับสากล (Standard Setting)
[10] เพื่อให้รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ นี้ ได้ร่วมกันปราบปรามการประกอบอาชญากรรมข้ามชาติที่มีเครือข่ายในลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม อนุสัญญาฯ มีข้อบทที่เกี่ยวข้องกับหลักการริบทรัพย์ตามมูลค่าใน Article 12 เรื่องการริบและยึดทรัพย์สิน รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในการริบทรัพย์สิน ที่กำหนดรัฐภาคีต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่สามารถริบทรัพย์ที่ได้จากการประกอบอาชญากรรมตามอนุสัญญานี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นจะได้มีการเปลี่ยนรูปไปอย่างไร รัฐภาคีต้องมีมาตรการในการติดตาม พิสูจน์ การยักย้าย ถ่าย โอน การเปลี่ยนรูปตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการคิดคำนวณมูลค่าของทรัพย์ที่ได้มานั้น อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดย (1) ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐรับเอามาตรการดังกล่าว มาใช้ตามความจำเป็นภายในขอบเขตที่มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ตามระบบกฎหมายภายในของตนเพื่อให้สามารถริบทรัพย์สินต่อไปนี้
(a) ทรัพย์สินที่ได้จากการก่ออาชญากรรมที่ได้รับมาจากความผิดหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าเทียบได้กับทรัพย์สินดังกล่าว …
[11]
– อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption
2003) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างกัน อันจะทาให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระดับภายในประเทศและในระดับสากลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรากฏใน Article 31 การอายัด การยึด และการริบทรัพย์สิน 1) กำหนดให้รัฐภาคีแต่ละรัฐต้องดำเนินมาตรการที่อาจจำเป็น ทั้งนี้ ภายในขอบเขตที่กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายในระบบกฎหมายภายในของตน เพื่อให้สามารถมีการริบทรัพย์สินต่อไปนี้
(a)ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่กำหนดตามอนุสัญญานี้ หรือทรัพย์สินอื่นซึ่งมีมูลค่าตรงกันกับมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดเช่นว่า …
[12]
บทบัญญัติดังกล่าวเป็นที่มาของการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของไทย เพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยการกำหนดการริบทรัพย์สินในคดีทุจริตให้เป็นไปตามหลักการริบทรัพย์ตามมูลค่า ตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 มาตรา 123/8
[13]
โดยหลักแล้วมาตรการริบทรัพย์สินตามมูลค่าเป็นคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินเป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด แต่มิได้มีการระบุให้ริบทรัพย์สินใดโดยเฉพาะ จึงไม่จำต้องมีทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งคำสั่งริบทรัพย์สินที่จะตกเป็นของแผ่นดินในขณะที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินนั้น รัฐเพียงแต่มีสิทธิบังคับให้ผู้กระทำความผิดจ่ายเงินเป็นมูลค่าตามคำสั่งให้ริบทรัพย์สินนั้น ดังนั้น คำสั่งให้ริบทรัพย์สินจะมีสภาพเหมือนกับโทษทางการเงินที่ลงกับผู้กระทำความผิดเท่านั้น ในระบบนี้ พนักงานอัยการหรือโจทก์ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ว่าทรัพย์สินที่ขอริบเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หน้าที่ของพนักงานอัยการหรือโจทก์มีเพียงแค่การนำเสนอพยานหลักฐานว่าผู้กระทำความผิดได้รับทรัพย์สินจากการกระทำความผิดเป็นมูลค่าเท่าใด เมื่อพิสูจน์ได้แล้ว ศาลก็จะมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินเป็นมูลค่าเท่านั้น หากผู้กระทำความผิดไม่ชำระตามคำสั่งให้ริบทรัพย์สิน คำสั่งให้ริบทรัพย์สินนั้นจะสามารถใช้บังคับกับทรัพย์สินทุกชนิดของผู้กระทำความผิดโดยไม่คำนึงว่าทรัพย์สินนั้นจะได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือได้มาจากการกระทำความผิด
ข้อดีของระบบการริบทรัพย์แบบมูลค่าคือ ผู้กระทำความผิดไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกริบทรัพย์สินได้เพียงแค่การซุกซ่อนหรือยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ทำให้เจ้าพนักงานไม่สามารถหาทรัพย์สินดังกล่าวได้ เนื่องจากการบังคับตามคำสั่งริบทรัพย์สินสามารถกระทำได้กับทรัพย์สินอื่นๆ ของผู้กระทำความผิด อีกประการหนึ่งคือการบังคับตามคำสั่งให้ริบทรัพย์สินจะบังคับเอากับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดโดยไม่คำนึงถึงที่มาว่าจะเป็นการกระทำความผิดหรือกิจการที่ชอบด้วยกฎหมาย โอกาสที่การบังคับตามคำสั่งให้ริบทรัพย์สินจะกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกจึงมีน้อยกว่าระบบการริบทรัพย์แบบเจาะจงตัวทรัพย์สิน กรณีจะต้องบังคับตามคำสั่งให้ริบทรัพย์สินกับทรัพย์สินของบุคคลภายนอกก็ต่อเมื่อผู้กระทำความผิดมีทรัพย์สินไม่เพียงพอชำระตามคำสั่งให้ริบทรัพย์สิน เพราะหากผู้กระทำความผิดมีทรัพย์สินเพียงพอชำระตามคำสั่งให้ริบทรัพย์สิน การบังคับก็กระทำแต่เฉพาะกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องกระทำกับบุคคลภายนอก ระบบการริบทรัพย์สินแบบมูลค่านี้เป็นระบบที่ใช้กันครั้งแรกในสหราชอาณาจักร และต่อมาได้ขยายไปสู่ประเทศในเครือจักรภพอื่นๆ รวมทั้งประเทศในยุโรปบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เป็นต้น และได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบการริบทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งอีกด้วย
[14] ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายอาญาของเยอรมนี (Strafgesetzbuches) ความในมาตรา 73a
[15] ได้กำหนดมาตรการริบทรัพย์ตามมูลค่าเทียบเท่าตัวเงินหรือยึดวัตถุอื่นทดแทน ในกรณีที่ไม่สามารถริบทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดได้โดยตรงด้วยเหตุผลอื่นบางประการ
- แนวทางการนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่ามาใช้กับคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงิน
สำหรับการนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่ามาใช้กับคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทยนั้น ด้วยรูปแบบของการกระทำความผิดในปัจจุบันมีการพัฒนาไปจากเดิมที่กระทำความผิดในลักษณะอาชญากรรมธรรมดา (Street crime) หรืออาชญากรรมพื้นฐาน เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่มีอยู่ในทุกสังคม กลายรูปแบบการกระทำความผิดที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น มีการนำลักษณะของการประกอบธุรกิจ หรือเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ มาผสมผสานกับการกระทำความผิดจนยากในการบังคับใช้กฎหมาย และส่วนใหญ่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ใช้โอกาสจากการประกอบอาชีพ หรือใช้ช่องทางในตำแหน่งหน้าที่กระทำความผิด และบางครั้งก็มีการดำเนินงานเป็นเครือข่ายเกี่ยวพันกันหลายประการ ในลักษณะขององค์กรอาชญากรรมและอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินที่มีลักษณะของการกระทำความผิดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการพาณิชย์ มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ จึงพิจารณาได้ว่า ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการกระทำความผิดนั้น เป็นแรงจูงใจสำคัญในการตัดสินใจที่จะกระทำความผิดและทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มีอยู่ในองค์กรอาชญากรรมไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นต้นทุนสำคัญที่จะประกอบอาชญากรรมต่อไป จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการริบทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพและสามารถยับยั้งการกระทำความผิดได้อย่างแท้จริง
หลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่าเป็นหลักการที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการลงโทษริบทรัพย์สินที่เป็นไปเพื่อการข่มขู่ยับยั้งการกระทำความผิดตามทฤษฎีการลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้ง (Deterrence) ที่มุ่งหมายบังคับเอากับทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดได้รับ ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการกระทำความผิด ตามทฤษฎีนี้มีหลักสำคัญว่า การลงโทษที่สมเหตุสมผลนั้นมิใช่เป็นการกระทำเพื่อแก้แค้นทดแทนการกระทำความผิด แต่เป็นการลงโทษที่มีผลพอเพียงต่อการข่มขู่ หรือป้องปรามมิให้ผู้อื่นกระทำความผิดซ้ำอีก และเป็นการลงโทษที่มุ่งหมายไปในทางป้องกันอาชญากรรมเป็นหลัก และการลงโทษริบทรัพย์สินก็มีความมุ่งหวังที่จะกระทำต่อทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด เพื่อมิให้บุคคลได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดของตน มีผลเป็นการทำลายประโยชน์ทางทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด เพื่อลดมูลเหตุจูงใจ ป้องกันมิให้กระทำความผิดซ้ำหรือข่มขู่บุคคลอื่นมิให้มีการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน โดยในคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงิน อาชญากรส่วนใหญ่มุ่งหวังประโยชน์ทางทรัพย์สินมหาศาลที่จะได้จากการกระทำความผิด ดังนั้น วิธีการหรือแนวคิดที่ผู้เขียนนำมาใช้กับอาชญากรประเภทนี้คือ หลักเรื่องการกลับสู่ฐานะเดิมก่อนที่ได้กระทำความผิด โดยมองไปถึงกระบวนการหรือวิธีการในการขยายขอบเขตการริบทรัพย์สินให้มากกว่าการริบทรัพย์สินแบบเจาะจงในทางอาญา ให้ผู้กระทำความผิดจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐและประชาชน แม้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจะถูกใช้สิ้นเปลือง หรือถูกกระทำโดยประการอื่นจนหมดไปก็ตาม
ผู้เขียนจึงเห็นว่า บทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ค.ศ. 2000 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการริบทรัพย์สินในกรณีที่ผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้จำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ ไปจนหมดสิ้น ทำให้ไม่มีตัวทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่จะดำเนินการริบตามกฎหมายและเป็นการตัดช่องทางมิให้ผู้กระทำความผิดยังคงได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินอื่นอยู่ต่อไป จึงควรนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่าตามที่ปรากฏในอนุสัญญาต่างๆ ดังกล่าวมาบังคับใช้ในคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินให้ศาลสามารถสั่งริบทรัพย์สินและผลประโยชน์อื่นใดได้กว้างมากขึ้นกว่าเดิมที่จะต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเท่านั้น โดยเสนอให้นำหลักดังกล่าวมาใช้ในลักษณะเดียวกันกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/8 โดยการแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายเฉพาะของแต่ประเภทความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยบัญญัติหลักการสำคัญดังนี้
1.นำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่ามาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินที่สำคัญ อาทิ พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 เพื่อเพิ่มประสิทธิของมาตรการริบทรัพย์สิน ให้สามารถทำลายสถานะทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการกระทำความผิด โดยให้ผู้กระทำความผิดต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐและผู้เสียหายไม่ว่าทรัพย์สินที่เหลืออยู่จะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม
2.กำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ร้องขอให้ศาลสั่งริบนั้นเป็นสิ่งที่โดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือได้มีการนำสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือได้มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น หรือการติดตามเอาคืนจะกระทำได้โดยยากเกินสมควร หรือมีเหตุสมควรประการอื่น ให้ศาลกำหนดมูลค่าของสิ่งนั้นโดยคำนึงถึงราคาท้องตลาดของสิ่งนั้นในวันที่ศาลมีคำพิพากษา และสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่นของผู้กระทำความผิดตามมูลค่าดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนดได้
3.ให้ศาลออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีการริบทรัพย์สินตามมูลค่า วิธีการชำระหรือส่งสิ่งที่ริบแทนมูลค่า และแนวทางการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินให้มีมูลค่าใกล้เคียงกับทรัพย์สินที่จำเลยได้จากการกระทำความผิด
ทั้งนี้ การนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่ามาใช้บังคับกับคดีอาญาทางเศรษฐกิจและการเงินย่อมเป็นการขยายขอบเขตของมาตรการริบทรัพย์ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตัดวงจรเครือข่ายอาชญากรรมได้เป็นอย่างดี
_________________________
[1] น.บ. (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) น.ม. (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เนติบัณฑิตไทย
[2] พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ประกอบ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 14 , พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53 , พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 22 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2556 มาตรา 16.
[3] พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” หมายความว่า
(1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินและให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน
(2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ
(3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2)
ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม (1) (2) หรือ (3) จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด
[4] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32
[5] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1)
[6] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (2)
[7] วีระพงษ์ บุญโญภาสและคณะ , โครงการศึกษาเพื่อยกร่างกฎหมายรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 เสนอต่อสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม, 2550 , หน้า 21.
[8] ปกป้อง ศรีสนิท , กฎหมายอาญาชั้นสูง , (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน , 2559) , 213.
[9] United Nations Convention against Illicit Traffic in Narcotic Drugs and Psychotropic Substances, 1988
Article 5. Confiscation
- Each Party shall adopt such measures as may be necessary to enable confiscation of:
(a) Proceeds derived from offences established in accordance with article 3, paragraph 1, or property the value of which corresponds to that of such proceeds; …
[10] ชัชชม อรรฆภิญญ์และคมกริช ดุลยพิทักษ์ , คำแปลอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, สืบค้น 2 มกราคม 2559 ,
http://www.oja.go.th/service/Lists/service/Attachments/82/ oja_symposium_5_G3_room6_3.pdf , หน้า 3:1:6.
[11] United Nations Convention against Transnational Organized Crime 2000
Article 12. Confiscation and seizure
- States Parties shall adopt, to the greatest extent possible within their domestic legal systems, such measures as may be necessary to enable confiscation of:
(a) Proceeds of crime derived from offences covered by this Convention or property the value of which corresponds to that of such proceeds …
[12] United Nations Convention against Corruption
2003
Article 31. Freezing, seizure and confiscation
- Each State Party shall take, to the greatest extent possible within its domestic legal system, such measures as may be necessary to enable confiscation of:
(a) Proceeds of crime derived from offences established in accordance with this Convention or property the value of which corresponds to that of such proceeds; …
[13] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/8
“เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำขอของโจทก์ว่าสิ่งที่ศาลสั่งริบตามมาตรา 123/6 (2) (3) หรือ (4) หรือมาตรา 123/7 เป็นสิ่งที่โดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือได้มีการนำสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือได้มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น หรือการติดตามเอาคืนจะกระทำได้โดยยากเกินสมควร หรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจกำหนดมูลค่าของสิ่งนั้นโดยคำนึงถึงราคาท้องตลาดของสิ่งนั้นในวันที่ศาลมีคำพิพากษาและสั่งให้ผู้ที่ศาลสั่งให้ส่งสิ่งที่ริบชำระเงินหรือสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่นของผู้กระทำความผิดตามมูลค่าดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนด
การกำหนดมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบตามวรรคหนึ่งในกรณีที่มีการนำไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่นหรือการกำหนดมูลค่าของสิ่งนั้นในกรณีมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนต่ำกว่าการนำไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่นในวันที่มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น ให้ศาลกำหนดโดยคำนึงถึงสัดส่วนของทรัพย์สินที่มีการรวมเข้าด้วยกันนั้น หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนสิ่งนั้น แล้วแต่กรณี
ในการสั่งให้ผู้ที่ศาลให้ส่งสิ่งที่ริบชำระเงินตามวรรคสอง ศาลจะกำหนดให้ผู้นั้นชำระเงินทั้งหมดในคราวเดียว หรือจะให้ผ่อนชำระก็ได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่กรณี
ผู้ที่ศาลสั่งให้ส่งสิ่งที่ริบซึ่งไม่ชำระเงินหรือชำระไม่ครบถ้วนตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินเนื่องจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ แต่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ให้เลขาธิการมีอำนาจเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินดังกล่าวจนกว่าคดีถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด”
[14] วีระพงษ์ บุญโญภาสและคณะ, โครงการศึกษาเพื่อยกร่างกฎหมายรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 , หน้า 21-22.
[15] Strafgesetzbuches Section 73a Confiscation of monetary value To the extent that the confiscation of a particular object is impossible due to the nature of what was obtained or for some other reason or because confiscation of a surrogate object pursuant to section 73(2) 2nd sentence has not been ordered, the court shall order the confiscation of a sum of money which corresponds to the value of what was obtained. The court shall also make such an order in addition to the confiscation of an object to the extent that its value falls short of the value of what was originally obtained.