บทความล่าสุด

ข้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกัน

2 ม.ค. 2025 | บทความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2567 แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำไว้แก่โจทก์หลังจาก ป.พ.พ. มาตรา 681/1 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับจะมีข้อความในวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงข้อตกลงที่ใช้ในกรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล  แต่การทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4  เป็นเรื่องบุคคลธรรมดาทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์  มิใช่นิติบุคคลทำสัญญาค้ำประกันตามวรรคสุดท้ายของข้อ 1  ทั้งตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็ไม่มีข้อความที่ระบุว่า  จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงยอมรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นแต่อย่างใด    ดังนั้นการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวจึงหาตกเป็นโมฆะ  โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดต่อโจทก์หากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ได้

(หมายเหตุ  1. ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันมีข้อความในวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ระบุว่า  กรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล  ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้น

  1. ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
  2. ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4   แตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 151  พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2  ถึงที่ 4
  3. ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า   หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน  ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระแทน)