ความหมายของคำว่า “หนังสือพิมพ์”ตาม ป.อ.มาตรา 332

บทความล่าสุด

ความหมายของคำว่า “หนังสือพิมพ์”ตาม ป.อ.มาตรา 332

25 พ.ย. 2024 | บทความ

ความหมายของคำว่า “หนังสือพิมพ์”ตาม ป.อ.มาตรา 332
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2567 (ประชุมใหญ่) ป.อ. มาตรา 332 (2) เป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ได้เองตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ และคำว่า “หนังสือพิมพ์” ย่อมปริวรรตไปตามยุคสมัย มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นโดยใช้กระดาษ แต่ยังมีความหมายรวมถึงข้อมูลข่าวสารเป็นตัวหนังสือที่ประชาชนทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ซึ่งเผยแพร่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย คดีนี้จำเลยกระทำผิดด้วยการเผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวและข้อความเสียงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊กซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเลยเผยแพร่ได้เป็นจำนวนมาก และอาจมีการเผยแพร่ซ้ำหรือเผยแพร่ต่อไปอีกอย่างกว้างขวาง การเยียวยาความเสียหายแก่โจทก์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย เพื่อทำให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดีด้วยการเผยแพร่คำพิพากษาโดยย่อผ่านทางเว็บไซต์ข่าวออนไลน์อีกช่องทางหนึ่งด้วย จึงเห็นสมควรให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย 2 ฉบับเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อผ่านทางเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่แพร่หลายอีก 2 เว็บไซต์ด้วย โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่า การใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าผู้ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรงก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และต้องพิจารณาถ้อยคำที่ผู้ใส่ความกล่าวถึงทั้งหมดรวมกัน โดยจะพิจารณาเพียงถ้อยคำเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้
2 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ให้ความหมายของคำว่า “หนังสือพิมพ์” ตาม ป.อ.มาตรา 332 รวมถึงเว็บไซด์ข่าวสารออนไลน์ด้วย โดยมีคำวินิจฉัยข้างต้น
3 ส่วนประเด็นเรื่องการรอการลงโทษ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กและยูทูบ ทำให้ข้อความหมิ่นประมาทแพร่หลายสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวางและรวดเร็วเป็นที่เสียหายแก่โจทก์อย่างยิ่ง พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง อย่างไรก็ดียังมีถ้อยคำของจำเลยบางส่วนที่แสดงออกถึงความห่วงใยปัญหาบ้านเมืองแสดงให้เห็นเจตนาที่ดีของจำเลยอยู่บ้าง จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน ความประพฤติไม่มีข้อเสื่อมเสีย ทั้งยังมีการศึกษาสูงและมีประสบการณ์ในการทำงานหลายด้าน สมควรที่จำเลยจะใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์แก่สังคมยิ่งกว่าการถูกจำคุกในระยะสั้น ที่ศาลชั้นต้นให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา)