แนวโน้มและรูปแบบการฟอกเงินในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ

แนวโน้มและรูปแบบการฟอกเงินในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ

4 ส.ค. 2017 | บทความ

แนวโน้มและรูปแบบการฟอกเงินในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ Trends and Patterns of Money Laundering in Transnational Organized  Human Trafficking (บทความนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารกฎหมาย คณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 กันยายน , 2558 : 69 – 79.) สุพัตรา  แผนวิชิต[1] บทคัดย่อ ปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยเฉพาะที่กระทำในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจำนวนมหาศาล และเงินเหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการฟอกเงิน เพื่อนำมาหมุนเวียนใช้เป็นต้นทุนประกอบอาชญากรรมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรอาชญากรรม การศึกษาแนวโน้ม รูปแบบและวิธีการฟอกเงินในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการสืบสวนสอบสวนขยายผลเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิด การติดตามเส้นทางการเงิน การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน การกำหนดมาตรการเฝ้าระวังของสถาบันการเงินมิให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ Abstract Presently, the global community values prevention and suppression of trafficking in human beings, especially the offense committed in a form of transnational organized crime, which generates pecuniary remuneration in large amounts, and these money amounts undergo money laundering processes, in order to be circulated and spent as working capital in commission of crimes and reinforcement of the criminal organization. Study of trends, patterns and methods of money laundering in transnational human traffickers shall be beneficial to law enforcement agencies in detection and investigation to amplify results for arresting the offenders and tracing the financial routes, disposal of properties, stipulation of monitoring measures of the financial institutions, as to prevent them from being used as tools in money laundering, and for enforcing the law in prevention and suppression of trafficking in human beings. ความนำ รายงานระดับโลกประจำปี 2557 ที่จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (United Nations on Drugs and Crime: UNODC)[2]  ระบุว่าปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกอย่างแท้จริง  ระหว่างปี 2553 – 2555  พบผู้เสียหายอย่างน้อยใน 124 ประเทศ จาก 152 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่พบเป็นหญิงและเด็กที่ถูกนำมาแสวงหาประโยชน์ทางเพศในเชิงพาณิชย์  ถูกบังคับใช้แรงงานและเพื่อวัตถุประสงค์อื่น และจากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (the International Labour Organization (ILO)) ได้ประมาณการตัวเลขรายได้ที่เกิดจากการบังคับใช้แรงงานในปี 2557 ว่ามีจำนวนกว่า 150.2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี  โดยเป็นรายได้จากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในเชิงพาณิชย์ ประมาณ 99 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และเป็นรายได้จากการบังคับใช้แรงงานประมาณ 51.2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี[3] แต่รายได้จำนวนมหาศาลของขบวนการค้ามนุษย์กลับถูกตรวจพบและรายงาน จนนำไปสู่การดำเนินคดีเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เนื่องจากขบวนการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่มักแทรกซึมอยู่ในองค์กรอาชญากรรมร้ายแรงประเภทอื่น            มีการกระทำความผิดอื่นร่วมด้วย และจำนวนเงินที่ได้จากการกระทำความผิดต่อครั้งมีจำนวนไม่สูงนักเมื่อเทียบกับองค์กรอาชญากรรมประเภทอื่น อีกทั้งมีข้อมูลจากรายงานขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe (OSCE)) [4] ระบุว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์โดยมุ่งเน้นไปที่ตัวผู้กระทำความผิดเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เงิน ทรัพย์สินหรือรายได้ที่ได้มาจากการกระทำความผิดและเงินทุนที่หมุนเวียนในวงจรการค้ามนุษย์  แนวโน้มการปราบปรามลักษณะนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ          ที่สำคัญมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งทำงานด้านปราบปรามการค้ามนุษย์และด้านต่อต้านการฟอกเงินมีกระบวนการทำงานที่แยกต่างหากจากกัน ทำให้ขาดการขยายผลเพื่อจัดการกับเงิน  ทรัพย์สิน รายได้และกิจกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ จึงกล่าวได้ว่า ขบวนการค้ามนุษย์มีความยากในการวิเคราะห์สถานการณ์และมูลค่ารายได้ที่แท้จริง เพราะส่วนใหญ่การค้ามนุษย์จะอยู่รวมกับองค์กรอาชญากรรมประเภทอื่น เช่น การค้าประเวณี  การเข้าเมืองผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติดและค้าอาวุธ การพนัน การปลอมแปลงเอกสาร เป็นต้น หลายประเทศจึงมีตัวเลขของการดำเนินคดีค้ามนุษย์ค่อนข้างน้อย เพราะให้ความสำคัญกับคดีร้ายแรงหลักมากกว่า ส่งให้ไม่มีการสอบสวนเพื่อขยายผลในคดีค้ามนุษย์ และคดีค้ามนุษย์ที่เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติก็ยิ่งพบความยากลำบากในการดำเนินคดีและการสืบสวนสอบสวนคดีระหว่างประเทศอีกด้วย รวมทั้งมีความยากในการเข้าถึงและการแสวงหาพยานหลักฐาน โดยเฉพาะพยานหลักฐานจากเหยื่อการค้ามนุษย์ อาชญากรรมการค้ามนุษย์จึงเป็นความกระทำความผิดที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ผลตอบแทนสูง ทำให้เครือข่ายอาชญากรสามารถทำกำไรได้เป็นจำนวนมากจากการหาประโยชน์จากเหยื่อและลิดรอนเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของเหยื่อ ขบวนการค้ามนุษย์มีรูปแบบของการกระทำความผิดในลักษณะขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีลักษณะของการแบ่งงานแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ มีเครือข่ายเพื่อการติดต่อประสานงานกันในหลาย ๆ ประเทศ โดยมุ่งหวังให้ได้เงินจํานวนมหาศาลเป็นผลตอบแทน เงินเหล่านี้จะถูกนําไปผ่านกระบวนการเปลี่ยนสภาพในหลาย ๆ ลักษณะเพื่ออําพรางที่มาและความเป็นเจ้าของของเงินได้นั้น และเพื่อมิให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจสอบร่องรอยการเงินได้หรือที่เรียกว่า “การฟอกเงิน” (Money Laundering) การฟอกเงินเป็นการดำเนินการด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเปลี่ยนเป็นเงินหรือทรัพย์สิน ซึ่งบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย การฟอกเงินได้กลายเป็นรูปแบบที่นิยมกันแพร่หลายของผู้กระทำความผิด ในการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปกปิดและแสวงหาผลประโยชน์จากการกระทำความผิด การฟอกเงินยังก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเงินดังกล่าวยังถูกนำไปใช้ในเพื่อขยายเครือข่ายของการประกอบอาชญากรรม โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามชาติ  รูปแบบของการฟอกเงินอาจกระทำได้หลายวิธีการ ทั้งในรูปแบบที่ใช้เงินสด  การทำธุรกรรมผ่านสถาบันการเงิน การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์            การใช้บริการทางด้านการเงินในรูปแบบต่าง ๆ  เช่น การใช้บัตรเงินสด การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ การลงทุนในธุรกิจประเภทต่าง ๆ  การฟอกเงินโดยใช้เงินตราต่างประเทศ การซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสูง การฟอกเงินโดยผ่านหน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่ถูกตรวจสอบจากภาครัฐ               โดยเงินที่ได้จากการกระทำความผิดและการฟอกเงินเหล่านี้จะย้อนกลับไปเป็นเงินทุนเพื่อประกอบอาชญากรรมขึ้นมาอีก เป็นวงจรการประกอบอาชญากรรม  ที่ยากต่อการจับกุมปราบปราม ขบวนการค้ามนุษย์จึงจะใช้การฟอกเงินเป็นเครื่องมือในการแปรสภาพเงินที่ได้จากการกระทำความผิด เพราะมีความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเงินที่ได้จากการกระทำความผิด เพื่อให้เงินอยู่ในรูปแบบเงินสดให้น้อยที่สุด และปกปิดแหล่งที่มาของเงินหรือทรัพย์สินนั้น เพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถติดตามร่องรอย รวมทั้งต้องการควบคุมเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด เพื่อให้ตนเองหรือองค์กรของตนนั้น สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวกลับมาใช้ประโยชน์ได้ตามความประสงค์ ให้องค์กรอาชญากรรมจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเงินที่ทำการฟอกแล้วจะถูกนำมาใช้เป็นต้นทุนในการประกอบอาชญากรรมครั้งต่อๆ ไป แนวโน้มการฟอกเงินในขบวนการค้ามนุษย์ การค้ามนุษย์เป็นความผิดที่กระทำในรูปแบบขององค์กรอาชญากรรมที่ทำกำไรได้มากที่สุด การค้ามนุษย์กระทำโดยอาชญากรในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ขนส่งในระดับล่างไปจนถึงเครือข่ายการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ  โดยมีความเชื่อมโยงในประเทศต้นทาง ทางผ่านและปลายทาง ตัวอย่างเช่น องค์กรอาชญากรรมของรัสเซียและอัลบาเนีย และมาเฟียอิตาลีให้การสนับสนุนขบวนการค้ามนุษย์ในยุโรป  ขณะที่การค้ามนุษย์ในเอเชียส่วนมากจะกระทำโดยองค์กรอาชญากรรมจีนและยากูซ่าญี่ปุ่น องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายระดับท้องถิ่น เพื่อจัดหาการขนส่ง จัดหาที่หลบซ่อนและการจัดทำเอกสารเพื่อการค้ามนุษย์  ผู้ค้ามนุษย์มักเกี่ยวข้องในอาชญากรรมอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น การลักลอบค้ายาเสพติด โดยการใช้ให้เหยื่อค้ามนุษย์เป็นคนขนส่งยา หรือบังคับให้เหยื่อช่วยในอาชญากรรมอื่นๆ อย่างเช่น การโจรกรรม[5]  โดยขบวนการค้ามนุษย์จะอยู่ในภาคส่วนความบันเทิง เกษตรกรรม ภาคบริการ โรงแรม/ภัตตาคาร/ร้านอาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมสิ่งทอ  การค้าปลีก การตัดไม้ การทำเหมืองแร่และการประมง การฟอกเงินในขบวนการค้ามนุษย์จากรายงานของ FATF[6]  ใน Money Laundering Risks Arising from Trafficking in Human Beings and Smuggling of Migrants[7]  ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำโดยสมาชิกและผู้สังเกตการณ์ของ FATF ที่ให้ข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามในประเด็นเรื่องหน่วยงานปราบปรามการค้ามนุษย์  การฟอกเงินในขบวนการค้ามนุษย์ แหล่งที่มาของการตรวจจับการฟอกเงิน  แนวโน้มในการฟอกเงินในการค้ามนุษย์ การสอบสวนและการดำเนินคดี และปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ระบุว่า ขบวนการค้ามนุษย์เป็นธุรกิจที่ฟอกเงินโดยเน้นการใช้เงินสด เช่น ในประเทศแคนาดามีรายงานการฟอกเงินโดยใช้เงินสดจากผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ร้านสะดวกซื้อ และบริษัทนำเข้า/ส่งออก หรือใช้เงินสดซื้อชิปในบ่อนการพนันและขึ้นเงินหลังจากการเล่นการพนันเพียงเล็กน้อย  มีการฟอกเงินโดยการนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปปนกับธุรกิจถูกกฎหมายในบัญชีบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทบังหน้าที่ใช้หาประโยชน์จากเหยื่อ และพบว่ามีการใช้ธุรกิจให้บริการทางการเงินในการฟอกเงินจากการค้ามนุษย์คือ การใช้ระบบโพยก๊วนหรือธนาคารใต้ดิน  โดยเฉพาะในรูปแบบของระบบธนาคารใต้ดิน (Underground Banking) ที่เรียกว่า Hawala  ซึ่งเป็นโพยก๊วนในรูปแบบที่ไม่ต้องใช้กระดาษเป็นตัวโพยแต่ใช้วาจาของบุคคลเป็นโพยแทน  ส่วนมากจะใช้ในการโอนเงินเพื่อการสนับสนุนทางการเมืองหรือเพื่อการคอรัปชั่น องค์กรก่อการร้ายข้ามชาติที่มีโครงสร้างในการดำเนินงานเป็นองค์กรการกุศลทางศาสนา บางองค์กรก็ใช้โพยก๊วนประเภทนี้เป็นสื่อในการโอนเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรในเครือข่ายเดียวกัน   โดยแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำไปสู่การตรวจสอบเส้นทางการฟอกเงินในขบวนการค้ามนุษย์มาจากสอง ทางหลักคือ 1)  ข้อมูลที่ได้มาจากการสอบสวนของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย การสอบสวนทางการเงินในคดีฟอกเงินจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการตรวจพบความผิดมูลฐานค้ามนุษย์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากการสอบสวนเพื่อนำไปสู่การสอบสวนและติดตามเส้นทางการฟอกเงิน และ 2) แหล่งที่มาจากการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยหน่วยข่าวกรองทางการเงิน ( Financial Intelligence Units (FIU)) และบทวิเคราะห์แนวโน้มการฟอกเงินของรายงานเหล่านั้น ข้อมูลการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยจากรายงานของ FATF ฉบับนี้พบว่า จำนวนธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่เกี่ยวกับความผิดฐานค้ามนุษย์มีจำนวนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับความผิดมูลฐานร้ายแรงอื่น  เนื่องจากการค้ามนุษย์เป็นความผิดที่ยากในการสืบสวนสอบสวนผู้บงการหรือองค์กรอาชญากรรมที่อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะการสืบสวนไปถึงการฟอกเงินในความผิดดังกล่าว จากรายงานระบุว่า มีการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่เกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนรายงานที่มีเข้ามา อาทิเช่น ในปี 2552 หน่วยข่าวกรองทางการเงินของประเทศสเปนได้รับรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จำนวน 84 ราย จากรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยทั้งหมด 2,764 ราย ในปี 2550 – 2552 หน่วยข่าวกรองทางการเงินของโคลัมเบียได้รับรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ จำนวน 14 ราย  ในปี 2552 หน่วยข่าวกรองทางการเงินของแคนาดาได้รับรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จำนวน 8 คดี จากจำนวนทั้งสิ้น 579 คดี  และในปี 2550 – 2552 หน่วยข่าวกรองทางการเงินของเปรูได้รับรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 10 ราย โดย 6 รายเกี่ยวข้องกับการเป็นธุระจัดหา[8] นอกจากนั้น ยังพบว่าแนวโน้มการฟอกเงินในความผิดฐานค้ามนุษย์มีแตกต่างกันตามภูมิภาค ตัวอย่างเช่น ในทวีปยุโรป การค้ามนุษย์มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการหาประโยชน์ทางเพศและการบังคับใช้แรงงาน ผู้ค้ามนุษย์มักใช้เหยื่อช่วยในการฟอกเงิน เช่น การใช้ขนเงินสด หรือใช้ธุรกิจบริการทางการเงินหรือระบบธนาคารใต้ดิน มีการตรวจพบการใช้บริษัทบังหน้าและธุรกิจที่เน้นเงินสดในการฟอกเงิน และมักแบ่งการโอนเงินหลายครั้ง หรือวิธีที่นิยมอย่างมากคือ การฟอกเงินโดยการนำเงินมาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการซื้อรถยนต์  ในประเทศแคนาดา ธุรกิจที่ใช้ฟอกเงินมากที่สุดคือตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ร้านสะดวกซื้อและบริษัทนำเข้าและส่งออก และบ่อนการพนัน ในประเทศโคลัมเบีย ตรวจพบแนวโน้มการฟอกเงินหลายแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการค้ามนุษย์ กล่าวคือ ใช้การโอนเงินทางธนาคารในการค้ามนุษย์ที่มีวัตถุประสงค์ในการหาประโยชน์ทางเพศ ใช้การโอนเงินโดยบัตรเครดิตหรือบนอินเตอร์เน็ตในการค้ามนุษย์ที่มีวัตถุประสงค์คือสื่อลามก (โดยมากเหยื่อจะเป็นเด็ก) และใช้ธนาณัติและชำระเงินสดในการค้ามนุษย์ที่มีวัตถุประสงค์ทางเพศ การบังคับใช้แรงงานหรือขอทาน หรือในประเทศออสเตรเลีย มีรายงานการฟอกเงินโดยการนำเงินไปปนในธุรกิจที่ถูกกฎหมาย และการโอนเงินผ่านระบบการธนาคารทั้งในระบบและธนาคารใต้ดิน รูปแบบการฟอกเงินในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ก.รูปแบบที่เน้นการใช้เงินสด ในสหราชอาณาจักร มีรายงานข้อมูลของขบวนการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบขนขนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย มีการเก็บค่าธรรมเนียมต่อผู้เข้าเมืองประมาณ 3,500 ปอนด์ ต่อคน และสูงถึง 14,500 ยูโร ต่อคน สำหรับการเดินทางจากประเทศตุรกีไปที่ต่าง ๆ ในยุโรป เงินส่วนนี้จะครอบคลุมต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนของการจัดทำเอกสารและหลักฐานเข้าเมืองปลอม และค่าที่พักใน สหราชอาณาจักร  มีข้อมูลจากแฟ้มรายงานคดีว่า ขบวนการค้ามนุษย์ประเภทนี้ได้ใช้วิธีการฟอกเงินเป็นรูปแบบของการใช้เงินสด อาทิเช่น การสร้างธุรกิจที่ถูกกฎหมายขึ้นบังหน้า โดยใช้ร้านเคบับ ร้านขายอาหารแบบห่อไปทานนอกร้าน และห้องบริการโต๊ะสนุกเกอร์ เพื่อฟอกเงิน  หุ้นส่วนของบริษัทจะเป็นสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนของผู้กระทำความผิด และในทุก ๆ ระยะเพียงไม่กี่ปีจะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ และมีการแต่งตั้งพนักงานของบริษัทใหม่ เพื่อให้เชื่อว่าเป็นกิจการใหม่  ส่วนใหญ่ของเงินทุนของกิจการเป็นลักษณะของเงินสด จึงไม่สามารถหาที่มาของเงินได้  มีการซื้อสินทรัพย์ภายในธุรกิจที่เปิดบังหน้าด้วยการใช้เงินสด  วิธีการนี้ทำให้ยากแก่การพิสูจน์ว่ามีการฟอกเงินผ่านบัญชีของกิจการธุรกิจ นอกจากนั้น มีการใช้บัญชีธนาคารหลายบัญชีต่างธนาคารกัน เพื่อหมุนเวียนเงินทุนและไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกตหรือถูกตรวจสอบได้ง่าย ข.การใช้ผู้ขนส่งเงินสด /เชิดบุคคลอื่นขึ้นบังหน้า ตัวอย่างของการฟอกเงินในรูปแบบนี้ ปรากฏในประเทศอิตาลี โดยหน่วยข่าวกรองทางการเงินได้รับรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยจำนวน 4 รายงาน มีข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบขนเงินสด การนำเข้ารถยนต์หรูราคาแพง การจัดสรรเงินผ่านบุคคลภายนอก และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นรายคดีของ นาง H ซึ่งเป็นผู้นำในองค์กร ในอดีตเคยเป็นหญิงนครโสเภณีในอิตาลี มีหน้าที่เก็บรายได้ภายในอิตาลี และเป็นเจ้าของสถานประกอบการมากกว่า 6 แห่งในบัลแกเรีย มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสถานตากอากาศแถบหุบเขาในบัลแกเรีย รายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยฉบับแรก เรื่องการนำส่งเงินสด พบว่า นาย A เข้าร่วมกิจการใน 2 บริษัทของ นาง H นาย A นำเข้าและสำแดงเงินจำนวน 200,000 ยูโร โดยไม่ระบุที่มา นาย  A เดินทางออกนอกประเทศเป็นประจำ ส่วนมากอยู่ในต่างประเทศไม่กี่ชั่วโมงก่อนกลับเข้าบัลแกเรีย รายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยฉบับที่สองและสาม เรื่องการซื้อรถยนต์ราคาแพง พบว่า ภริยาของ นาย A นำเข้ารถยนต์ราคาแพงจากเยอรมนี เธอเป็นหุ้นส่วนในบริษัทหนึ่งของนาง H และเกี่ยวข้องกับอีกสองบริษัทผ่านทาง นาย A  ที่มาของเงินที่ใช้ซื้อรถยนต์ไม่แน่ชัด โดยปรากฏว่าญาติอย่างน้อย 5 คนของครอบครัวนี้ก็นำเข้ารถยนต์เช่นกัน รายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยฉบับที่สี่  เรื่องการจัดสรรเงินผ่านบุคคลภายนอก พบว่า มารดาของนาง H  เป็นเจ้าของธุรกิจค้าปลีก เธอเปิดบัญชีธนาคารและฝากเงินสดจำนวน 150,000 ยูโร ด้วยธนบัตรที่มีมูลค่าสูง มีการฝากเงินสดจำนวนมากครั้งอื่นๆ อีก การฝากเงินนั้นมีการรายงานเหตุอันควรสงสัยเนื่องจากมีการใช้ธนบัตรที่มีมูลค่าสูง หน่วยข่าวกรองทางการเงินส่งข้อมูลดังกล่าวต่อให้แก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากเข้าลักษณะโครงสร้างขององค์กรอาชญากรรม  หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายรู้จักกิจการของนาง H  เป็นอย่างดี ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบธุรกรรมในบัญชีของนาง H เพิ่มเติม และพบว่าสภาพวิถีความเป็นอยู่ไม่สอดคล้องกับรายได้ที่แสดง  มีการยึดทรัพย์สินของธุรกิจและยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อยึดและอายัดทรัพย์สิน ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ 5 แห่ง เงินฝาก 500,000 ยูโร และรถยนต์ จากกรณีศึกษานี้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปแบบการฟอกเงินว่า มีการวางโครงสร้างโดยใช้ธุรกิจบังหน้าและการโอนเงินโดยใช้สัญญากู้  (การกู้ยืมเป็นนิติกรรมอำพราง)  เงินทุนส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในรูปเงินฝากอย่างไม่มีกำหนด มีใช้ผู้ขนส่งเงินสดและถอนเงินสดซ้ำๆกัน มีการเชิดบุคคลอื่นขึ้นบังหน้า ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า  มีพิรุธเนื่องจากวิถีการดำเนินชีวิตไม่สอดคล้องกับข้อมูลการทำธุรกรรมและข้อมูลประวัติของลูกค้าสถาบันการเงิน และมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่ต้องสงสัยหรือเป็นที่ทราบว่ามีประวัติอาชญากรรม ค.การใช้ระบบธนาคารใต้ดิน ในประเทศไนจีเรีย มีการดำเนินธุรกิจ Hawala  โดยการรับเงินสดจากหลาย ๆ สถานที่เพื่อมารับเงินที่ไนจีเรีย ระบบ Hawala จะนี้อิงอยู่กับการชำระเงินล่วงหน้าและขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของบุคคล โดยลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมร้อยละ 10  ส่วนใหญ่จะใช้สกุลเงินยูโรในการทำธุรกรรม รายงานคดีระบุว่า จำเลยคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเดนมาร์ก รับเงินในออสโล ประเทศนอร์เวย์ ทุก ๆ สี่หรือหกสัปดาห์  (สูงสุดครั้งละ 20,000 ยูโร)  และได้ขนส่งเงินไปยังประเทศไนจีเรีย (โดยผู้นำส่งเงินสด) องค์กรค้าประเวณีชาวไนจีเรียส่วนมากใช้ระบบนี้ในการส่งเงิน กล่าวได้ว่าผู้ค้าประเวณีทั้งหมดได้ใช้เครือข่าย Hawala ในการขนส่งเงิน ง.การลงทุนในต่างประเทศ จากข้อมูลรายงานการสอบสวนของประเทศแอฟริกาใต้พบว่า กิจกรรมทางการเงินของเจ้าของสถานค้าประเวณีที่มีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์และมีเหยื่อที่มาจากประเทศยูเครน โรมาเนียและบัลแกเรีย มีข้อมูลเชื่อมโยงถึงรูปแบบการฟอกเงินคือ ธุรกรรมของสถานค้าประเวณี ส่วนมากเป็นธุรกรรมเงินสดและไม่เคยมีการนำเงินสดฝากเข้าธนาคารเลย ธุรกรรมของสถานค้าประเวณีมีความเชื่อมโยงไปถึงการรับและแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ  เนื่องจากมีการตรวจพบที่ท่าอากาศยานและได้ยึดเงินตราต่างประเทศจำนวนหนึ่ง การดำเนินธุรกิจของสถานค้าประเวณีมีหลักฐานของการลงทุนในต่างประเทศ อย่างเช่น มีการจัดตั้งการลงทุนโดยไม่เปิดเผยชื่อในกองทุนที่เป็นฉากบังหน้าในเกิร์นซีย์ (Guernsey) และในบัญชีมีเงินกว่า 40 ล้านปอนด์ โดยเป็นรายได้จากการประกอบกิจการค้าประเวณี  นอกจากนั้นพบว่า จำเลยยังมีบัญชีธนาคารอีกสองบัญชีในสหรัฐอเมริกา ภายหลังมีการโอนเงินทุนในสหรัฐอเมริกาไปยังกองทุนในเกิร์นซีย์และโอนเงินทุนจากเกิร์นซีย์กลับไปยังแอฟริกาใต้เพื่อตั้งสถานค้าประเวณีใหม่อีกสองแห่ง จ.การตั้งบริษัทบังหน้า ในประเทศเบลเยียม นาย A อาศัยอยู่ในเบลเยียม ประกอบการสำนักงานบัญชีและจัดการบริษัทอื่น ๆ อีกประมาณสิบแห่ง  นายแดงก่อตั้งบริษัทเหล่านี้ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจดทะเบียนว่าดำเนินกิจการธุรกิจก่อสร้าง ธนาคารได้สังเกตพบธุรกรรมที่ต้องสงสัยในบัญชีของสองบริษัทในกลุ่มนี้ ธุรกรรมสินเชื่อประกอบด้วยการโอนเงินตามคำสั่งของบริษัทในภาคเดียวกัน เมื่อมีการรับเงิน นาย A ซึ่งถือหนังสือมอบอำนาจให้เดินบัญชี ก็ทำการถอนเงินสดอย่างสม่ำเสมอ ส่วนมากบริษัทเหล่านี้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ ที่อยู่เดียวกัน ซึ่งเป็นเพียงที่อยู่ในการรับส่งไปรษณีย์เท่านั้น แสดงถึงเจตนาที่จะตั้งบริษัทเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ไม่ใช่เพื่อดำเนินกิจการ  และยังพบว่ามีการนำฝากเงินสดและถอนเงินสดออกอย่างเป็นระบบในส่วนของทุนจดทะเบียนของทุกบริษัทที่เกี่ยวข้อง ภายในไม่กี่วันหลังจากการจัดตั้ง  ต่อจากนั้น มีธุรกรรมในบัญชีเกิดขึ้นเพียงสองบริษัท  หลาย ๆ บริษัทในภาคเดียวกันและตัวการของการโอนเงินเป็นที่รู้จักกันว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการค้ามนุษย์เพื่อหาประโยชน์จากการใช้แรงงาน จากกรณีศึกษานี้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปแบบการฟอกเงินว่า  มีการจัดตั้งหลายบริษัทในไม่นานพร้อม ๆ กัน  จัดตั้งบริษัทเพื่อขายให้แก่บุคคลภายนอก มีความเกี่ยวข้องกับสำนักงานบัญชี            มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ไม่ประกอบกิจการ มีการนำฝากทุนจดทะเบียนเป็นเงินสดตามด้วยการถอนเงินสดออกอย่างสม่ำเสมอและมีการถอนเงินสดออกทันทีที่ได้รับเงิน ฉ.การใช้บริการสั่งจ่ายเงินและบัญชีธนาคารและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศสเปน  มีรายงานว่า องค์กรอาชญากรรมค้ามนุษย์มีผู้บงการเป็นเจ้าของสถานบันเทิงหลายแห่งในประเทศสเปน ได้แสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเหยื่อที่เป็นสตรี และมีการส่งรายได้บางส่วนจากธุรกิจผิดกฎหมายออกนอกประเทศโดยบริษัทสั่งจ่ายเงิน เพื่อชำระหนี้ค่าตัวของเหยื่อแต่ละคน  โดยมีลักษณะของการใช้บริการสั่งจ่ายเงินคือมีการส่งเงินเป็นจำนวนน้อย ๆ ให้เหยื่อเป็นคนส่งเงินไปยังประเทศของตน  ผู้รับเงินในประเทศปลายทางเป็นคนเดียวกัน  มีข้อมูลของผู้ส่งและผู้รับเงินบางรายปรากฏในฐานข้อมูลของหน่วยข่าวกรองทางการเงิน  มีการเปิดบัญชีธนาคารหลายรายในสเปนโดยคนต่างด้าวด้วยหนังสือเดินทางต่างฉบับกัน ซึ่งต่อมาพบว่าเจ้าของบัญชีเหล่านั้นเป็นบุคคลคนเดียวกัน  โดยความเคลื่อนไหวพื้นฐานในบัญชีเหล่านั้นคือ การฝากเงินเข้าหลายครั้งในจำนวนน้อย ๆ (ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องแสดงตน) จากหลายเมืองของสเปน และมีการโอนเงินดังกลายไปยังประเทศแถบยุโรปตะวันออก และในบางธุรกรรมมีผู้รับคนเดียวกัน หน่วยข่าวกรองทางการเงินมีข้อมูลที่เชื่อว่าสมาชิกบางคนขององค์กรอาชญากรรมได้ซื้อสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลจากผู้ถูกรางวัลตัวจริงเพื่อเป็นการฟอกเงิน และจากการสอบสวนพบว่ามีการเปิดบริษัทบังหน้า บางบริษัทไม่ได้ดำเนินกิจการจริงๆ และบริษัทเหล่านี้ได้ซื้อทรัพย์สินโดยใช้เงินสด ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของประเทศต้นทางของเหยื่อและปฏิบัติการร่วมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศมีประโยชน์มากต่อการแกะรอยจากเงินทุนนำไปสู่การจับกุมสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมในประเทศต้นทางและยึดทรัพย์สินและเงินที่ได้จากการกระทำความผิด จากกรณีศึกษาของประเทศสเปน ซึ่งเป็นประเทศปลายทางพบข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการฟอกเงินคือ มีการใช้เงินสด มีการโอนเงินผ่านบริการสั่งจ่ายเงิน ในลักษณะเป็นจำนวนน้อยๆ โอนจากหลายภูมิภาคไปยังบุคคลคนเดียวกันที่อยู่ต่างประเทศ (ประเทศต้นทางของเหยื่อ) โอนเงินโดยหลายคน ผู้รับเงินคนเดียวได้รับเงินจากหลายคน ธุรกรรมเหล่านั้นขาดธุรกิจหรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่รองรับ มีการทำธุรกรรมผ่านธนาคาร ในลักษณะที่ใช้เอกสารแสดงตนปลอม ฝากเงินเป็นจำนวนน้อยๆ เพื่อเลี่ยงเกณฑ์ที่ต้องแสดงตน  โอนเงินไปยังประเทศต้นทางของเหยื่อ ธุรกรรมเหล่านั้นขาดธุรกิจหรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่รองรับ มีการใช้บริษัทบังหน้าเพื่ออำพรางที่มาอันผิดกฎหมายของเงินทุนและการนำเงินไปซื้อสลากที่ถูกรางวัลแล้ว บทส่งท้าย ปัจจุบันประเทศไทยถูกระบุว่าเป็นประเทศที่มีสถานะถูกใช้เป็นประเทศต้นทางคือ มีการแสวงหาประโยชน์จากเหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  เป็นประเทศปลายทางคือ มีการแสวงหาประโยชน์จากเหยื่อการค้ามนุษย์ที่มาจากต่างประเทศ และเป็นประเทศทางผ่านคือ ใช้เป็นทางผ่านเพื่อส่งเหยื่อการค้ามนุษย์ออกไปยังประเทศอื่น และจากรายงานเผยแพร่รายงานประจำปีเรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ปี 2557[9] (Trafficking in Persons Report 2014 หรือ TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศสหรัฐสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) เป็นกลุ่มประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกาและไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด เช่นเดียวกันกับอีก 22 ประเทศในโลก คือ แอลจีเรีย, แอฟริกากลาง, คองโก, คิวบา, อิเควทอเรียล กินี, เอริเทรีย, แกมเบีย, กินี-บิซเซา, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, คูเวต, ลิเบีย, มาเลเซีย, มอริเตเนีย, ปาปัว นิวกินี, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, ซีเรีย, อุซเบกิซสถาน, เยเมน, เวเนซุเอลา, ซิมบับเว ด้วยสภาพภูมิประเทศของไทยซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายพันกิโลเมตร และยังเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมในภูมิภาค รวมทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ทำให้แรงงานจำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้านเคลื่อนย้ายเข้ามาหรือเคลื่อนย้ายผ่านประเทศไทย ทั้งที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเพื่อหางานทำที่มีรายได้ดีกว่าในประเทศของตน อีกทั้งผู้ประกอบการของไทยและประเทศที่สามก็มีความต้องการแรงงานต่างด้าวมาทำงานบางประเภทที่คนในชาติไม่นิยมทำ เช่น งานกรรมกร งานในอุตสาหกรรมประมงและประมงต่อเนื่อง จึงเกิดขบวนการนำพา หรือหลอกลวงทั้งจากประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง เช่นเดียวกับแรงงานไทยและคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ต้องการเคลื่อนย้ายไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งที่เดินทางโดยสมัครใจ และที่ถูกหลอกลวงว่าจะได้รายได้ที่มากกว่า ตลอดจนค่านิยมทางวัตถุ จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้คนไทยและคนต่างด้าวจำนวนหนึ่งตกเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ทั้งในประเทศตนเองและประเทศอื่น สำหรับประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551เพื่อบัญญัติความผิดฐานค้ามนุษย์และกำหนดความผิดฐานค้ามนุษย์ให้ครอบคลุมการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบที่หลากหลายมากขึ้น และกำหนดกลไกที่ใช้ในการป้องกันและปราบปรามการ          ค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับพันธกรณีที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนาม ได้แก่ อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ค.ศ. 2000 (United  Nation Convention Against Transnational Organized Crime)  และพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก รวมทั้งกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เป็นความผิดมูลฐานของกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อป้องกันและปราบปรามความผิดฐานค้ามนุษย์อีกหลายฉบับ ที่สำคัญได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542  เป็นกฎหมายที่กำหนดให้ความผิดฐานฟอกเงินเป็นความผิดอาญา กำหนดความผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน กำหนดมาตรการในการยึด อายัด การตรวจสอบทรัพย์สินและการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อมุ่งสกัดกั้นเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรม และกำหนดมาตรการป้องกันการฟอกเงินผ่านระบบสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงาน  พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการสืบสวนสอบสวน การแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีพิเศษ รวมถึงมาตรการพิเศษในการดำเนินคดีกับอาชญากรรมพิเศษที่มีรูปแบบและวิธีการกระทำความผิดที่มีความซับซ้อนและยากต่อการดำเนินคดี โดยเน้นการปราบปรามอาชญากรรมพิเศษที่กระทำในลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมหรือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ  และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรฯ เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ  โดยกำหนดให้การมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเป็นความผิดอาญา กำหนดวิธีการสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิด กำหนดมาตรการพิเศษต่าง ๆ  กำหนดความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งกำหนดบทกำหนดโทษที่เหมาะสมแก่การกระทำความผิด แนวโน้มการค้ามนุษย์ของประเทศไทยพบว่า นับจากมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551  ได้มีการเน้นย้ำเรื่องการบังคับใช้แรงงานและการหาประโยชน์จากแรงงานมากขึ้น โดยเจาะจงแล้วในอุตสาหกรรมประมง โดยในอดีตจะมีการให้ความสนใจในการต่อต้านการค้ามนุษย์จากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์และการใช้แรงงานเด็กมากกว่า[10] จากสถิติการดำเนินคดีในปี 2557 พบว่า ประเทศไทยยังคงมีสถานะเป็นประเทศต้นทาง ปลายทางและทางผ่าน โดยมีผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ รวม 595 คน เป็นคนไทย 274 คน ลาว 108 คน เมียนมา 83 คน กัมพูชา 29 คน และสัญชาติอื่น 101 คน ผู้เสียหายที่ถูกแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีส่วนใหญ่เป็นคนไทย ผู้เสียหายที่ถูกแสวงประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานส่วนใหญ่เป็นคนเมียนมา ผู้เสียหายจากการนำคนมาขอทานส่วนใหญ่เป็นคนกัมพูชา และผู้เสียหายส่วนใหญ่ อายุต่ำกว่า 18 ปี[11] แต่อย่างไรก็ดี การบังคับใช้กฎหมายฟอกเงินกับความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์กลับไม่สามารถขยายผลเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ได้ พิจารณาจากสถิติข้อมูลผลการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานค้าหญิงและเด็กตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542  พบว่าในปี  2557 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำนวน  2 รายคดี เป็นเงินจำนวน 35,999,388.54 บาท และพิจารณาจากสถิติมูลค่าทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตั้งแต่เริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายฟอกเงินคือ พ.ศ. 2543 จนถึง พ.ศ. 2556 พบว่ามีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญาฯ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็กฯ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี หรือความผิดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณีฯเพียง 20 คดี จำนวน 95,106,989.18 บาท และมีการดำเนินการสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินในความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพียง 9 เรื่องและมีมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดอายัดเป็นจำนวน 45,541,676  บาทเท่านั้น จากสถานการณ์การค้ามนุษย์และการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องมุ่งเน้นเรื่องการดำเนินการกับทรัพย์สินของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ นอกเหนือไปจากการมุ่งนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษจากการดำเนินคดีอาญา  เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในการจับกุมผู้กระทำความผิดในขบวนการค้ามนุษย์ของไทยที่ผ่านมานั้น ไม่สามารถสาวไปถึงตัวผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังขบวนการได้ ดังนั้น การดำเนินการเพื่อทำลายวงจรของเงินหรือรายได้จากการกระทำความผิด จะเป็นวิธีการตัดวงจรการกระทำความผิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การศึกษารูปแบบและแนวโน้มของการฟอกเงินของขบวนการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในสืบสวนสอบสวนขยายผล และการกำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ เพราะรูปแบบหรือวิธีการฟอกเงินจะพัฒนาความซับซ้อนและเพิ่มวิธีการขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่โลกมีการพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ ในการให้บริการทางการเงินและการลงทุน และยังเป็นประโยชน์ต่อการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547  และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 _______________________________ [1] นักวิจัยและที่ปรึกษาอิสระ ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง

[2] United Nations on Drugs and Crime , Global report on trafficking in persons 2014 , p. 7 , https://www.unodc.org/documents/data-and-analysis/glotip/GLOTIP_2014_full_report.pdf

[3] International Labor Organization, Profits and Poverty : The Economics of Forced Labor (2014) [4] Organization for Security and Co-operation in Europe (OSCE), Leveraging Anti-Money Laundering Regimes to Combat Trafficking in Human Beings , http://www.osce.org/secretariat/121125 , p. 8. [5] US Congressional Research Service (CRS) (2010), Trafficking in PersonsUS Policy and Issues for Congress, Report for Congress Prepared for Members and Committees of Congress, 23 December 2010 ,www.fas.org/sgp/crs/misc/RL34317.pdf [6] The Financial Action Task Force on Money Laundering หรือ  FATF  เป็นคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มประเทศ G7 ในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ.2532)  โดยในปี ค.ศ. 1990 คณะทำงาน FATF  ได้จัดตั้งมาตรฐานด้านต่าง ๆ และส่งเสริมให้มีการใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการด้านการกำกับดูแลและมาตรการด้านปฏิบัติการอย่างบังเกิดผลในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธตลอดจนภัยอื่น ๆ ที่คุกคามบูรณภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ คณะทำงาน FATF ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่มีส่วนได้เสียเพื่อระบุจุดอ่อนด้านต่าง ๆ ในระดับชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองระบบการเงินระหว่างประเทศให้พ้นจากการนำไปใช้อย่างผิดๆ  ได้ออกข้อแนะนำซึ่งเป็นแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย สำหรับประเทศสมาชิก หรือที่เรียกว่า  FATF Recommendations และได้พัฒนาปรับปรุงสาระสำคัญเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย  (International Standards on Combating Money Laundering and the Financing of Terrorism) [7] FATF, Money Laundering Risks Arising from Trafficking in Human Beings and Smuggling of Migrants , 2011, http://www.fatfgafi.org/media/fatf/documents/reports/trafficking%20in% 20human%20beings%20and%20 smuggling%20of%20migrants.pdf [8] FATF, Money Laundering Risks Arising from Trafficking in Human Beings and Smuggling of Migrants , 2011, p. 17. [9] U.S. Department of State , TRAFFICKING IN PERSONS REPORT JUNE 2014 , http://www.state.gov/documents/organization/226844.pdf [10] UNIAP , SIREN, The Mekong Region Human Country Datasheets on Human Trafficking  2010 , www.no-trafficking.org/reports_docs/siren/uniap_2010ht_datasheets.pdf., p. 26. [11] กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย  ประจำปี 2557 , หน้า 3.