กฎหมายมรดกและพินัยกรรมที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน

บทความล่าสุด

กฎหมายมรดกและพินัยกรรมที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน

29 พ.ย. 2024 | บทความ

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึง กฎหมายที่น่าสนใจในส่วนของมรดกแบบย่อๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในชีวิตของทุกคน ซึ่งต่อไปในบทความนี้ในส่วนที่กล่าวถึง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะขอใช้คำย่อว่า “ป.พ.พ.” แทน

มรดกหรือกองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย (ที่มีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย) ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆ  เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๐๐) ซึ่งทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายนั้น รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน สังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์  ลิขสิทธิ์ต่างๆ  หุ้น สิทธิเรียกร้องต่างๆอันมีค่าหรือตีราคาเป็นเงินได้ เช่น เงินฝากในธนาคารต่างๆ  หน้าที่และความรับผิด ซึ่งรวมถึงหนี้สินของเจ้ามรดกที่มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายก็ถือเป็นมรดกด้วย

แต่ถ้าสิทธิ หน้าที่และความรับผิดนั้น ตามกฎหมายถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย เช่นสิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิการเช่า ฯ เช่นนี้ ก็ไม่ถือเป็นมรดกของผู้ตาย

ซึ่งทรัพย์มรดกนั้น  จะต้องพิจารณาในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นสำคัญ ว่ายังคงมีทรัพย์สินใดบ้างที่เป็นกรรมสิทธิ์ของคนตาย  ซึ่งหากก่อนตายผู้ตายได้จำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นแล้ว  ทรัพย์สินที่โอนไปนั้น ก็มิใช่ทรัพย์สินในกองมรดกอีกต่อไป

เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท (ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙๙) และกองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมาย  ซึ่งเรียกว่า “ทายาทโดยธรรม” หรือโดยพินัยกรรมซึ่งเรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม”    (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๐๓)

สำหรับทายาทโดยธรรม ที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายนั้น คือผู้สืบสันดานที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  บิดามารดา คู่สมรส ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นทายาทในลำดับเดียวกัน มีสิทธิได้รับมรดกแบ่งเป็นส่วนเท่าๆกัน   เพื่อให้มองเห็นภาพและจำง่าย เบื้องต้นให้ดูที่ผู้ตายเป็นหลัก ให้มองภาพตัวเราเอง ยื่นแขนขวาขึ้นมา คือ ภริยาที่จดทะเบียนสมรสที่มีชีวิตอยู่ในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย (แม้จะทิ้งร้างกัน หรือแยกกันอยู่ แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน สถานะก็ยังเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย)  ต่อไปมองดูด้านบน คือ บิดามารดาของผู้ตาย (กรณีมารดา ย่อมเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ  ส่วนบิดานั้นจะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตร บิดาจะต้องจดทะเบียนสมรสกับมารดา หรือจดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร หากเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกของบุตรผู้ตาย) ต่อไปมองสายล่าง คือบุตร ซึ่งมีทั้งบุตรผู้สืบสายโลหิต ซึ่งมีทั้งบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วโดยพฤติการณ์   กับบุตรบุญธรรมที่มีการจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย   ซึ่งหากยังมีทายาทสายบนและสายล่างอยู่ หรือยังคงมีสายใดสายหนึ่งอยู่  บรรดาพี่น้องของผู้ตาย ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ซึ่งเป็นทายาทในลำดับถัดไป จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเลย                (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๒๙,๑๖๓๐,๑๖๓๑,๑๖๓๕)

หากทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกนั้น ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดก หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๓๙)

แม้ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายก็ตาม  แต่บางกรณีทายาทโดยธรรมอาจสูญเสียสิทธิในการรับมรดกได้ คือการถูกตัดมิให้รับมรดก (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๐๘), การถูกกำจัดมิให้รับมรดก  (กรณียักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๐๕,๑๖๐๖) และการสละมรดก  อาทิเช่น ถูกเจ้ามรดกทำเป็นหนังสือแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งในพินัยกรรม เช่น เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้กับบุคคลอื่น หรือโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เช่นนายอำเภอ เช่นนี้เป็นการถูกตัดมิให้รับมรดก

การสละมรดก คือการที่ทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรมได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งที่จะไม่รับทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน  ซึ่งทำขึ้นต่อเมื่อเจ้ามรดกตายแล้ว  โดยแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้เป็นหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นายอำเภอ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งการสละมรดกนั้นจะถอนทำบางส่วนหรือมีเงื่อนไขไม่ได้ และเมื่อสละมรดกไปแล้ว ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และจะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับผู้ที่สละมรดกจะได้รับ  (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๑๒, ๑๖๑๓, ๑๖๑๕)

ถ้าผู้ตายมีคู่สมรส (จดทะเบียนสมรส ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๔๕๗) กฎหมายให้แบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเสียก่อน ซึ่งทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสถือว่าเป็นสินสมรส ไม่ว่าฝ่ายใดจะทำมาหาได้ก็ตาม จะต้องมาแบ่งทรัพย์สินในส่วนของสินสมรสก่อนคนละส่วนเท่ากัน (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๒๕) เหลือเท่าใดในส่วนของผู้ตายจึงจะเป็นทรัพย์ในกองมรดก เช่น  ในระหว่างสมรสกัน มีทรัพย์สิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อคู่สมรสซึ่งเป็นสามีตาย  การสมรสสิ้นสุดลง จะต้องแบ่งสินสมรสออกเป็น ๒ กอง ๆละ ๕๐,๐๐๐ บาท  ภริยาได้สินสมรสไปก่อน ๕๐,๐๐๐ บาท เหลืออีก ๕๐,๐๐๐ บาท เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย นำมาแบ่งให้กับทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกต่อไป แต่หากฝ่ายชายผู้ตายไม่ได้จดทะเบียนสมรส   เช่นนี้หากเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายทำมาหาได้ฝ่ายเดียว ได้เงินมา ๑๐๐,๐๐๐ บาท เช่นนี้เงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นทรัพย์มรดกของฝ่ายชายทั้งหมด

เว้นแต่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ว่า ในระหว่างที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอยู่กินด้วยกัน แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ได้ร่วมกันทำมาหากิน ประกอบการค้าร่วมกัน ได้เงินมา ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาฝ่ายชายตาย เช่นนี้ ฝ่ายหญิงก็มีสิทธิได้ส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง คือ ๕๐,๐๐๐ บาท ในฐานะเป็นเจ้าของรวมหรือในลักษณะของหุ้นส่วน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๑๐/๒๕๔๕ ฎีกาที่ ๑๒๗๓๔/๒๕๕๘) ส่วนที่เหลือ ๕๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ซึ่งต้องนำมาแบ่งให้กับทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกต่อไป

สำหรับพินัยกรรมนั้น คือการแสดงเจตนาของเจ้ามรดกในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์มรดก กำหนดการเผื่อตายไว้ก่อนที่ตนเองจะถึงแก่ความตาย ซึ่งจะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายเท่านั้น  หากไม่มีการทำพินัยกรรมไว้ หรือมีการทำพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับหรือบังคับได้แต่เพียงบางส่วน  มรดกนอกพินัยกรรมดังกล่าว ก็ย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมเช่นเดียวกัน  ซึ่งผู้รับพินัยกรรมนั้นจะเป็นบุคคลใดก็ได้ เป็นบุคคลที่มิใช่ทายาทโดยธรรมก็ได้  และการทำพินัยกรรมนั้น จะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย

กองมรดกนั้นถ้ามีหนี้ของผู้ตายอยู่  จะต้องนำทรัพย์มรดกไปชำระหนี้ก่อน  เหลือเท่าใดจึงจะนำมาแบ่งให้กับทายาทตามสิทธิ   หากผู้ตายมีแต่หนี้สินและไม่มีทรัพย์มรดกเลย ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดในหนี้สินนั้น   แต่หากว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกอยู่บ้างแต่มีหนี้มากกว่าทรัพย์มรดก  ทายาทก็ยังต้องรับผิดในหนี้สินนั้นด้วย   แต่อย่างไรก็ตามทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๐๑) แต่ในทางปฏิบัติหากผู้ตายมีหนี้  เจ้าหนี้จะฟ้องทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกให้รับผิดในหนี้ของผู้ตาย หรือหากมีการตั้งผู้จัดการมรดกไว้แล้ว เจ้าหนี้จะฟ้องผู้จัดการมรดก ซึ่งศาลก็จะมีคำพิพากษาให้ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกต้องรับผิด  แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน

ในเรื่องของผู้จัดการมรดกนั้น จากประสบการณ์ในการทำงาน พบว่าประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษากฎหมายมาโดยเฉพาะ ยังมีความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจำนวนมาก เพราะเข้าใจว่าถ้าศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด จะตกเป็นของผู้จัดการมรดกเพียงผู้เดียว ซึ่งความเข้าใจที่ผิดดังกล่าว ส่งผลให้ในปัจจุบัน คดีเกี่ยวกับผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดก (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓,๓๕๔) มีสถิติคดีที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งคำว่าผู้จัดการมรดกนั้น เป็นเพียงตัวแทนของทายาทเท่านั้น  มีหน้าที่รวบรวม ทำบัญชีและแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเท่านั้น  หากผู้จัดการไม่ทำหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง  ทายาทก็สามารถขอถอนผู้จัดการมรดกที่ศาลแต่งตั้งได้ และขอตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ได้

นอกจากบุคคลธรรมดาแล้ว กรณีของวัด ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ วัดที่จัดตั้งขึ้นได้รับอนุญาตให้จัดตั้งถูกต้องมีประกาศจัดตั้งเป็นวัดประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีฐานะเป็นนิติบุคคล (คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๙๐/๒๕๔๒) วัดจึงเป็นผู้รับพินัยกรรมได้ นอกจากนี้วัดที่เป็นนิติบุคคลซึ่งพระภิกษุรูปนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ (ภูมิลำเนาของพระภิกษุ พิจารณาจากหนังสือสุทธิสำหรับพระภิกษุ และ/หรือสถานที่อยู่จำพรรษาเป็นสำคัญ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๔/๒๕๓๖ และฎีกาที่ ๒๕๖๐/๒๕๓๖)  เป็นผู้รับทรัพย์สินของพระภิกษุได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๓ (กฎหมายไม่ได้ใช้คำว่ามรดก แต่ใช้คำว่าทรัพย์สิน เช่นนี้จึงไม่รวมถึงหนี้สินของพระภิกษุด้วย) หากว่าเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ และพระภิกษุไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใด มิได้จำหน่ายไปในระหว่างที่พระภิกษุยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สินนั้นย่อมตกเป็นสมบัติแก่วัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น  (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๒๓) แต่หากทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนพระภิกษุบวช ก็ไม่ตกเป็นทรัพย์สินของวัด ซึ่งต้องไปดูทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๒๙ ต่อไป

นอกจากนี้สิ่งที่ควรระวังก็คือเรื่องของอายุความมรดก โดยเฉพาะการที่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย แม้เดิมสิทธิเรียกร้องนั้นจะมีอายุความยาวกว่า ๑ ปี ก็ตาม กฎหมายมรดกกำหนดให้เจ้าหนี้จะต้องฟ้องทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกที่ศาลแต่งตั้ง ให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของลูกหนี้ผู้ตายภายใน ๑ ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตาย หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย (ป.พ.พ.มาตรา ๑๗๕๔) มิฉะนั้นคดีจะขาดอายุความฟ้องร้อง  เว้นแต่เป็นเรื่องของเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง

กรณีทายาทโดยธรรมฟ้องเรียกทรัพย์มรดก จะต้องฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงการตายของเจ้ามรดก แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

กรณีผู้รับพินัยกรรมฟ้องเรียกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม จะต้องฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงการตายของเจ้ามรดก แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

แต่หากเป็นเรื่องที่ทายาทคนใดคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกัน ย่อมมีสิทธิฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้จะล่วงเลยอายุความ ๑๐ ปีแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๘๖/๒๕๓๕)

แบบของพินัยกรรมนั้น กฎหมายกำหนดแบบของพินัยกรรมไว้ ๕ แบบด้วยกัน คือพินัยกรรมแบบธรรมดา (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๕๖), พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ(ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๕๗) ,พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๕๘),พินัยกรรมแบบเอกสารลับ(ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๖๐) และพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๖๓) ซึ่งต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ หากฝ่าฝืนพินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะ

นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องของผู้เขียนและพยานในพินัยกรรม ซึ่งต้องมีในพินัยกรรมแบบที่นิยมทำกันในแบบธรรมดา และแบบพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนั้น ผู้เขียนพินัยกรรมและพยานในพินัยกรรม รวมถึงคู่สมรสของบุคคลนั้น จะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้  หากฝ่าฝืนผลคือเป็นโมฆะ ส่วนพินัยกรรมแบบผู้ทำพินัยกรรมเขียนเองด้วยลายมือตัวเองทั้งฉบับนั้น ไม่ต้องมีพยานแต่อย่างใด

ซึ่งพินัยกรรมแบบที่นิยมทำกันส่วนใหญ่นั้น จะมีอยู่ ๒ แบบด้วยกัน คือพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ และพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง  ซึ่งในส่วนของพินัยกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะมีปัญหาโต้แย้งกันในส่วนของทายาทในเรื่องของความไม่สมบูรณ์ของพินัยกรรม อาทิเช่น พินัยกรรมไม่ได้ทำตามแบบ พินัยกรรมปลอม ไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรม  พินัยกรรมทำขึ้นในขณะที่ผู้ทำมีสติสัมปชัญญะไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ถูกล่อลวง ถูกฉ้อฉล พินัยกรรมทำขึ้นไม่ถูกต้องตรงตามเจตนาของผู้ทำ  ซึ่งพินัยกรรมแบบที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของการโต้แย้งถึงความไม่สมบูรณ์ของพินัยกรรมนั้น คือพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ซึ่งทำขึ้นที่อำเภอ

ในส่วนของความสามารถในการทำพินัยกรรมนั้น  ผู้เยาว์ซึ่งมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป ก็สามารถทำพินัยกรรมได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม  แต่ในส่วนของคนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตซึ่งศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถนั้น ผู้อนุบาลซึ่งศาลแต่ตั้งจะไม่สามารถทำพินัยกรรมแทนคนไร้ความสามารถได้เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัว พินัยกรรมซึ่งคนไร้ความสามารถทำขึ้นเป็นโมฆะ  นอกจากนี้สามีภริยาก็ไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่นได้  หากฝ่าฝืนส่วนที่ยกสินสมรสเกินส่วนของตนนั้น ไม่มีผลบังคับ